ประเพณีไทย ภาคเหนือ จังหวัด กำแพงเพชร “ทอดผ้าป่าแถว”
ประเพณี ทอดผ้าป่าแถว
ช่วงเวลา
ในอดีต กระทำเฉพาะในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ (วันลอยกระทง) ณ วัดบาง ปัจจุบัน กระทำในวันขึ้น๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ (วันลอยกระทง) ณ วัดบาง และในงานประเพณีนบพระเล่นเพลง ณ วัดพระแก้ว อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
ความสำคัญ
เป็นวันที่พุทธศาสนิกชนจะได้ถวายเครื่องนุ่งห่มและไทยธรรม เป็นเครื่องบูชาแด่พระสงฆ์ก่อนจะทำพิธีลอยกระทงบูชาพระพุทธบาทตามคติความเชื่อแต่โบราณ ในอดีต เนื่องจากในเขตชุมชนเมืองกำแพงเพชรมีวัดสำคัญ ๓ วัด คือ วัดบาง วัดคูยาง วัดเสด็จ เพื่อให้เกิดความสะดวกในการจัดพิธีบุญในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ชาวเมืองจึงนัดหมายกันประกอบพิธีบุญใหญ่หมุนเวียนกันไปตามวัดทั้ง ๓ วัด เมื่อกำหนดประกอบพิธีบุญใหญ่ในวัดใด ก็จะนิมนต์พระสงฆ์จากวัดอื่นอีก ๒ วัดมาร่วมประกอบพิธีกันในคราวเดียว
พิธีกรรม
ในเวลาเย็นก่อนทำพิธีลอยกระทง ศาสนิกชนทั้งผู้สูงอายุ หนุ่มสาว และเด็ก ในแต่ละครอบครัวจะนำผ้าซึ่งอาจจะเป็นผ้าสบง จีวร หรือ ผ้าเช็ดตัวสีเหลือง และเครื่องไทยธรรมมี ธูป เทียน หอม กระเทียม พริกแห้ง น้ำตาลทราย ไม้ขีดไฟ เป็นต้น จัดบรรจุในชะลอมหรือภาชนะอื่นๆ ไปรวมกันในสถานที่ที่นัดหมายกันไว้กรรมการวัดจะเตรียมกิ่งไม้สดพร้อมใบไม้ปักแสดงตำแหน่งไว้เป็นแถว ๆ ต่างว่าเป็นป่าเมื่อชาวบ้านแขวนผ้าที่นำมาไว้บนกิ่งไม้จึงเรียกว่าผ้าป่าแถว เมื่อได้ตำแหน่งแล้ว เจ้าของผ้าป่าจะไปจับสลากชื่อฉายาของพระสงฆ์ที่จะมาชักผ้าป่าของตนแล้วนำชื่อฉายานั้นมาติดแสดงไว้ที่ผ้าป่า หลังจากนั้นต่างก็จับกลุ่มกันรอเวลาที่พระสงฆ์จะมาส่องไฟหาชื่อฉายาของท่าน ซึ่งกว่าจะพบก็เป็นที่สนุกสนานของเด็กๆ และหนุ่มสาวที่คอยให้กำลังใจแก่พระสงฆ์ เมื่อพบชื่อฉายาของท่านที่กองผ้าป่าใด ท่านก็จะทำพิธีชักผ้าป่า พร้อมกับสวดมนต์ให้พรแก่เจ้าของกองผ้าป่าเป็นเสร็จพิธี
สาระ
แสดงถึงความสามัคคีและความพร้อมเพรียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของชาวเมืองกำแพงเพชรในการจัดการให้เกิดความสะดวกแก่การประกอบพิธีบุญร่วมกัน และส่วนของความสนุกสนานก็นับว่าเป็นกุศโลบายนำเด็กและเยาวชนให้รู้จักและสืบทอดประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นต่อไป